Harold Feinstein ช่างภาพหัวใจดนตรีกล่อมโลก

Photo taken by Judith Thompson (Harold’s wife) visiting Coney Island 2001
This image has been used in the fly-leaf of his books

อพาร์ทเม้นท์หมายเลข 821 ของช่างภาพ Harold Feinstein ในช่วงวัยรุ่นที่อาศัยห้องเล็กๆ ในจัตุรัสตลาดดอกไม้ย่านชานเมืองของนิวยอร์ก สถานที่ที่อบอวลไปด้วยเสียงจอแจตามแบบฉบับตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างเจรจาราวกับวงดนตรีแจ๊สหลายสิบวงกำลังแข่งขันบรรเลงเพลงสุดขบถไม่ซ้ำแบบ ไม่มีธรรมเนียมกฎเกณฑ์ใดๆ ขวางกั้นจินตนาการราวกับว่าโลกดนตรีของพวกเขากว้างไกลไร้ขอบเขตและเสรี ภาพถ่ายก็คงไม่ต่างกันนักในสายตาของช่างภาพนิวยอร์กเกอร์ที่ต่อมาเขาจะบรรเลงเพลงผ่านภาพถ่ายให้คนทั่วโลกได้รู้จัก Jazz Scene ของ Harold Feinstein

Harold Feinstein ช่างภาพชาวอเมริกัน พื้นเพเป็นคนนิวยอร์กแถว Coney Island ย่านชานเมืองที่อุดมไปด้วยความหลากหลายไม่ว่า แอฟริกา รัสเซีย อิตาลีและยังมีกลุ่มคนหลายศาสนามาอาศัยร่วมกันซึ่งเป็นผลดีของเขาที่จะได้ทำความรู้จักพร้อมรับรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย จากการเดินทางเที่ยวเล่นตามประสาเด็กที่มีงบวันละ 25 เซนต์ เมื่ออายุย่างเข้า 15 ปีชีวิตของ Harold ก็เลือกที่จะเลือกเดินทางสายช่างภาพที่เขาชอบ จากการฝึกฝนมากว่า 2 ปีทำให้เขามีงานแสดงภาพของตัวเองในแกลเลอรี่ชื่อดังอย่าง Manhattan Limelight Gallery  ในวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น และอีก 6 ปีต่อมาเขาเข้าร่วมกองทัพเพื่อเข้าสู่สมรภูมิสงครามคาบสมุทรเกาหลีในฐานะช่างภาพสงครามครั้งแรก

“ในตอนนั้นผมอยากเข้าร่วมสงครามในฐานะช่างภาพ ซึ่งโชคก็เข้าข้างผมเต็มๆ ผมได้เข้าร่วมกับกองทัพบกและได้พกกล้องติดตัวเดินทางตลอดการรับใช้ชาติ” Harold Feinstein รำลึกถึงความหลังในช่วงเวลาที่เขามีโอกาสได้เก็บภาพสงครามและผลงานของเขาได้รับการยกย่องในวงกว้างพร้อมกับการมีชื่อเสียงขึ้นมาทันที

เมื่อกลับมาที่นิวยอร์ก บรรยากาศรอบเมืองกำลังอบอวลไปด้วยงานศิลปะแนว Abstract Expressionists ที่ในช่วงเวลานั้นช่างภาพอย่าง Diane Arbus และ Richard Avedon กำลังมาแรงและกำลังมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งในเวลานั้นช่างภาพหนุ่มจาก Coney กำลังทำงานของเขาขะมักเขม้นโดยมีลูกค้าประจำชั้นดีอย่าง Museum of Modern Art ที่มักจะแวะเวียนมาซื้อภาพของเขาไปแสดง

และในช่วงเวลาที่เขาทำงานอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ย่านจัตุรัสตลาดดอกไม้ สถานที่แห่งนี้ที่เขาได้รับอิทธิพลจากเพื่อนร่วมอาชีพ W Eugene Smith ที่พยายามเชิญชวนให้เขามาสนใจเพลงของ Thelonious Monk, Zoot Sims และ Chick Corea นักดนตรีสายแจ๊สที่กำลังโด่งดังในวงการเพลง และเพลงสายขบถผู้ใฝ่หาอิสรภาพก็เป็นแรงบันดาลให้ Harold Feinstein ลุกขึ้นเก็บบรรยากาศรอบย่าน Coney Island ในมุมมองของตัวโน๊ตและบันไดเสียง กลายเป็นภาพขาวดำระดับตำนานที่ใครเห็นแล้วยังต้องชื่นชมในความกล้าที่จะถ่ายทอดพร้อมแหวกทุกธรรมเนียมการถ่ายภาพเหมือนกับที่เพลงแจ๊สได้มอบไว้ให้เขาทุกห้องหัวใจ

ที่มา https://www.telegraph.co.uk/news/obituaries/11746914/Harold-Feinstein-photographer-obituary.html

แม้ชื่อเสียงมากขึ้นแต่สำหรับตัวเขายังคงเดินหน้าหาแนวการถ่ายแปลกใหม่เสมอจนปี 1970 ปีที่เทคโนโลยีดิจิตอลกำลังคืบคลานมาอย่างช้าๆ Harold Feinstein ในวัย 38 มองเห็นโอกาสในการสร้างงานใหม่ๆที่ไม่มีใครคิดว่าจะเข้าท่านัก เมื่อเขานำดอกไม้ ผีเสื้อ เปลือกหอยมาสแกนลงเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วล้างออกมาเป็นภาพถ่าย ทำให้เขาได้เห็นโครงสร้างอันสวยงามและกลายเป็นต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นใหม่สาย Scanography ได้ศึกษาสร้างสรรค์ผลงาน จากความสำเร็จและไม่ยึดติดกับกรอบทำให้เขาถูกเชิญไปเป็นผู้บรรยายในสถานศึกษาด้านถ่ายภาพชื่อดังอย่าง University of Pennsylvania, the New York School of Visual Arts และ the Philadelphia Museum school และยังคงเดินหน้าสร้างผลงานผ่านภาพถ่ายที่เขาเรื่อยมาจนถึงปี 2015 และเสียชีวิตในวัย 84 ปี

แม้ร่างกายจะจากไปแต่เพลงแจ๊สที่บรรเลงอยู่ในรูปยังคงดังกังวานให้ชาวนิวยอร์กได้ฟังและชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ของเขาเสมอมา

ที่มา : theredlist.com, www.telegraph.co.uk, www.haroldfeinstein.com