คุยเรื่องภาพผ่านมุมมองคนวงการถ่ายภาพ ต๋อง อาคเนย์ เพิ่มทรัพย์ และ สุรเจต foto club

Fashion Foto fest  อีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่เกิดจากการร่วมมือกันของ ยูเนี่ยน มอลล์ และ Fotoclub BKK  ชูคอนเซ็ปท์ ‘BEYOND NORMAL’ นำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ล้ำไปอีกขั้นของการใช้ชีวิตยุค New Normal ภายในงานเชิญเหล่ากูรูสายแฟชั่นมากประสบการณ์มาแบ่งปันความรู้และความคิดแก่คนชอบถ่ายภาพรุ่นใหม่ นำทีมโดย ต๋อง อาคเนย์ เพิ่มทรัพย์ ช่างภาพแฟชั่นมากประสบการณ์ทั้งในไทยและและนิวยอร์กวัย 73 ปี ขึ้นมาเล่าถึงประสบการณ์ของตน งานนี้ Fotoupdate มีโอกาสได้รับเกียรติจาก ต๋อง อาคเนย์ เพิ่มทรัพย์ และ สุรเจต โภคมั่งมี ผู้ร่วมก่อตั้ง Fotoclub BKK มานั่งพูดคุย มุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องการถ่ายภาพให้ผู้อ่านได้เสพกันเพลินๆ

ภาพหมู่ในงานเปิดตัว

Fotoupdate : ให้พี่ต๋องเล่าถึงเส้นทางการเป็นช่างภาพโดยสังเขป

พี่ต๋อง : ผมเริ่มเรียนในปี 1979 ที่นิวยอร์ก 3 เดือน จุดประสงค์หลักคือผมเบื่องานที่ร้านอาหารก่อนหน้าและเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตรมาทำงานแล้วได้มาทำงานในสตูดิโอใหญ่ในนิวยอร์ก เป็นผู้ช่วยช่างภาพซึ่งในสตูดิโอที่ทำงานจะใช้กล้อง 8×10 ทั้งหมด บางครั้งก็มีใช้ 11×14 ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานที่นี่คือ เราเรียนรู้ถึงการทำงานในสตูดิโอว่าต้องทำความสะอาดยังไง ม้วนสายไฟยังไง เวลาทำงานกับช่างภาพเราก็จะได้รู้ว่าช่างภาพต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร ทำไปได้ประมาณ 1 ปี ผมไปได้งานช่างภาพที่บริษัททำนิตยสาร มีหน้าที่ถ่ายงานภาพประกอบเรื่อง ตอนเข้าไปผมต้องไปเป็นช่างภาพคู่กับอีกคน ซึ่งงานถ่ายภาพประกอบเรื่องไม่ใช่เรื่องง่ายแต่สำหรับผมเองถือว่าเป็นงานที่ให้ประโยชน์กับผมมาก ซึ่งผมอยู่ที่นี่มา 10 กว่าปี

คุณต๋อง อาคเนย์ เพิ่มทรัพย์ และ คุณสุรเจต โภคมั่งมี

Fotoupdate : ความไม่ง่ายของการถ่ายภาพประกอบเรื่องคืออะไร

พี่ต๋อง : มันไม่ง่ายและไม่เหมือนแฟชั่น การถ่ายภาพประกอบเรื่องนี่เราต้องไปนั่งฟังบรรณาธิการของหนังสือ 7 เล่ม พูดให้เราฟังบ้างว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่จะลงในแต่ละเล่ม ซึ่งเราต้องถ่ายภาพให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นๆ ต้องคุยกับคนที่ไม่รู้จัก คือทุกช็อตที่ถ่ายเลยเพราะคนที่มาถ่ายจะเป็นนักแสดงไม่ใช่นางแบบแฟชั่น พอผมทำงานไปได้พักหนึ่งแล้ว ก็เริ่มที่จะเอาพวกที่หน้าตาดูเป็นโมเดลหน่อยมาถ่ายเทส( test) แล้วก็ทำเป็นแฟ้มผลงานขึ้นมานำไปเสนอเอเจนซี่ที่นิวยอร์ก ซึ่งทางนั้นก็ชอบผลงานของผม ก็จะมีส่งนางแบบมาให้เราถ่ายควบคู่ไปกับงานถ่ายภาพประกอบเรื่อง ถือว่าเป็นเวลานานพอสมควร การที่เราได้พูดคุย กำกับนายแบบ นางแบบ นักแสดงซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

Fotoupdate : Fashion Foto fest งานสำคัญที่ต้องการให้เป็นมากกว่าถ่ายภาพ

พี่เจต : ด้วยมุมมองของแฟชั่นที่มีรายละเอียดหลายอย่างและ Union Mall เองก็อยากจะทำ Fashion Hub เลยมีการจับมือกัน ซึ่งคำว่า Fashion Hub เองมันไม่ได้มีแค่คนซื้อ คนขายแต่ยังมีคนรอบข้างด้วยอย่างช่างภาพ ซึ่งฝั่งร้านค้าเองก็ต้องการ Lookbook เพื่อเอาภาพไปโชว์ จนทำให้เกิดงานนี้ครับ

Fotoupdate : การที่พี่ต๋องและ fotoclub ได้มาร่วมมือกัน อะไรส่วนสำคัญ

พี่เจต : ส่วนที่คลิกกับ Fotoclub เลยคืองานพี่ต๋องเป็นงานขาวดำ ปริ้นมือในห้องมืดซึ่งในปี 80 ช่วงเวลานั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ จึงเต้องใช้ดาร์ครูมเทคนิค( darkroom) เป็นเอฟเฟคที่เราใช้กันในโปรแกรม Photoshop เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น Masking การเล่นกับสี ใช้พู่กันมาวาด แล้วด้วยผมที่ทำงานมาทั้งในห้องมืดและถ่ายภาพ พอมาเห็นงานของพี่เขาแล้ว มันคืองานมาสเตอร์!  ซึ่งคนที่จะทำงานออกมาแบบนี้ได้ต้องเข้าใจลึกซึ้ง วันนั้นผมได้เห็นแล้วต้องบอกเลยว่าใครที่ทำงานแนวนี้ พอเห็นงานพี่ต๋องถ่ายแล้วจะรู้ทันทีว่านี่ไม่ธรรมดาแน่ๆ ผมยังพูดเลยว่า “พี่ไปอยู่ไหนมา” ซึ่งพี่ต๋องเองไม่เคยเอาไปให้ใครดู ส่วนเรื่องของการพบกันนั้นเป็นความบังเอิญมากๆ วันนั้นพี่ต๋องเดินผ่านร้านพอดีแล้วนึกว่าเป็นที่ชุมนุมถ่ายภาพ เพราะในเมืองนอกมันจะเป็นที่คนชอบถ่ายภาพมารวมกัน

ต๋อง อาคเนย์ เพิ่มทรัพย์

Fotoupdate : ผลงานที่มีคุณค่ามากกว่ากด Like

พี่ต๋อง : สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่มีคนอย่างคุณเจตเข้าใจในสิ่งที่ผมทำนี่คือสิ่งที่สำคัญกว่าที่ผมถ่ายโน่นถ่ายนี่ถ่ายอะไร อย่างชาติฉกาจ ไวกวี เราต่างนับถือกันและเข้าใจว่าเราทำอะไรซึ่งผมดีใจที่มีคนเข้าใจงานที่ผมทำ ซึ่งดีกว่าคนที่มากด like แต่ไม่เข้าใจว่าผมถ่ายอะไรซึ่งผมไม่ค่อยชอบ ผมเองก็ไม่ได้ต้องให้คนมาชมแต่อย่างน้อยๆ ให้เข้าใจ

Fotoupdate : มากกว่าอุปกรณ์มีเรื่องสำคัญมากกว่านั้นของการเป็นช่างภาพ

พี่ต๋อง : ในการทำงานมันมีอะไรที่มากกว่าการกดชัตเตอร์ มีเรื่องการทำฉากครึ่งวันแต่ตอนกดชัตเตอร์ใช้เวลาไม่ถึงสองนาที มันมีรายละเอียดมากกว่าการที่เราซื้อกล้องแล้วบอกว่าเราเป็นช่างภาพอาชีพ

พี่เจต : เป็นเรื่องหนึ่งที่เราคลิกกัน เราไม่ได้พูดถึงอุปกรณ์ที่ใช้ เราพูดถึงแนวความคิด กรรมวิธีที่ให้ได้มาซึ่งภาพพวกนั้น การใช้กล้องอะไรเราไม่สนใจ ซึ่งสมาชิก Fotoclub เองก็มีกล้องแพงๆ แต่วันแรกที่เปิดร้านเราพูดเลยว่าให้เก็บพวกนั้นแล้วเอากล้องคอมแพคหรือกล้องถูกๆมาถ่าย คือเราไม่จำเป็นต้องใช้กล้องแพงแต่เราจะถ่ายออกมาให้ดีต้องทำยังไง เป็นสิ่งที่สังคมยังมองไม่เห็น เราจะเห็นในสื่อโซเซี่ยลต่างๆ ที่บอกกันว่าต้องใช้กล้องรุ่นใหม่ เลนส์ดีที่สุด ตรงข้ามกับมุมมองของพี่ต๋องเองที่มองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อที่สุด

Fotoupdate : การเริ่มฝึกถ่ายภาพในมุมมองของพี่ต๋อง

พี่ต๋อง : ถ้าคุณไปถามช่างอาชีพที่นิวยอร์กว่าผมอยากเป็นช่างภาพต้องทำอย่างไร เขาจะพบอกว่าให้คุณไปดูภาพอย่างเดียวสองปีเพื่อฝึกสายตาก่อนที่จะซื้อกล้องมาถ่าย พวกกล้อง เลนส์ มันเป็นเครื่องมือ แล้วก็การดูรูปไม่ว่าจะพวก Photobook หรือตามโซเชียลต่างๆ ทุกอย่างมีประโยชน์หมด แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารูปไหนดีรูปไหนไม่ดี ถ้าเราไม่ฝึกสายตาการมองภาพมาก่อน

Fotoupdate : ข้อดีที่ Photobook ดีกว่า Social Media คืออะไร

พี่เจต : ปีที่แล้วผมผลักดันกับการทำหนังสือภาพของช่างภาพ ทำให้เห็นว่า Photobook กับโซเชียลมีเดียมีความต่างกันตรงที่ โซเชียลมีเดียมันแสดงรูปมาให้เราดูแบบสุ่ม รูปนั้นดี รูปนี้ก็ดีแต่สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานที่แข็งแรงมันจะเกิดคำถามว่า สวยแล้วยังไงต่อ สวยแบบไหน แล้วทำอย่างไรรูปถึงสวยแล้วเหมาะกับเราหรือเปล่า แต่ Photobook นี่มันต่างกัน ก่อนที่จะมาเป็นหนังสือภาพ จะผ่านกระบวนการรวบรวม ไม่ว่าจะเป็นธีม ประวัติช่างภาพหรือเรื่องราวที่หนังสือเล่มนั้นจะเลือกเล่า ซึ่งหนังสือที่ดีจะผ่านกระบวนการคิดมาเรียบร้อย รอบคอบแล้วตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งทำให้เราเข้าใจในเรื่องราวที่หนังสือจะเล่า แต่ในโซเชียลมีเดียจะต่างออกไป รูปนั้นมา รูปนี้มาปน มันไม่กลมกล่อม หนังสือภาพจึงเหมือนภาพยนตร์ที่มีการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับ

Fotoupdate : งานแฟชั่นของช่างภาพในอดีตและปัจจุบันต่างกันอย่างไร

พี่ต๋อง : ก่อนถ่ายลูกค้าจะมีภาพอ้างอิงมาให้เราแล้ว ซึ่งเราต้องถ่ายตามที่เขาอยากได้ แต่สิ่งที่เราจะทำได้อย่างอิสระคือการถ่าย Test มันทำให้เราถ่ายอย่างที่เราชอบได้ เหมือนกับเด็กสมัยนี้ที่การถ่าย Test แล้วนำไปเสนอลูกค้า ถ้าลูกค้าชอบ ก็จะจ้าง ซึ่งลูกค้าสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะเป็นนิตยสาร เอเจนซี่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องเป๊ะ

พี่เจต :  ลูกค้าปัจจุบันจะเลือกช่างภาพจากสไตล์ที่เข้ากับเขา แต่ถ้าผ่านเอเจนซี่มันทำแบบนั้นไม่ได้ มันต้องมีการคุยกันก่อนซึ่งช่างภาพก็ไม่ได้คุยจะมีกลุ่ม ART director creative ที่เป็นคิดงานออกมารวมถึงรูปอ้างอิง พอมาถึงช่างภาพก็ไม่กล้าหลุดไม่งั้นจะมีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลุดมาบ้าง

Fotoupdate : การถ่ายภาพเป็นเรื่องของการถ่ายทอดตนเอง

พี่เจต : ในงานนี้เชื่อว่าจะมีรูปซ้ำกันเยอะไม่น้อย แต่วันนี้คุณจะถ่ายยังไงไม่ให้เหมือนคนอื่น

พี่ต๋อง :  อย่างที่เจตพูดเพราะมีหลายอย่างที่เหมือนกัน ทั้งห้อง สี เหมือนแต่เราจะถ่ายอย่างไรให้แตกต่าง

Fotoupdate : คุณค่าของงานถ่ายภาพเป็นเรื่องของเหตุผล

พี่เจต: ในงานนี้เรากำลังจะบอกกับคนที่เริ่มถ่ายรูปว่า นายต้องลองศึกษาแบบนี้ ดูรูปแบบนี้แต่เราไม่ได้บังคับให้มาชอบงานผมหรือพี่ต๋อง แต่ต้องหาแนวทางของตนเองซึ่งงานของคุณในสายตาคนอื่นอาจจะทุเรศแต่จริงๆ มันมีความหลังที่เราถ่ายทอดออกมา เราไม่ได้มาคุยกันว่างานคนนั้นสวยคนนี้ไม่สวยแต่เรามาคุยกันว่าเหตุผลอะไรที่ทำแบบนั้น

Fotoupdate : ปัญหาของช่างภาพมือใหม่ที่จะมีปัญหาเรื่องการรับมือนางแบบ จนบางทีก็มีดราม่าออกมา

พี่ต๋อย : สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานคือการสื่อสารโดยเฉพาะเวลาเราทำงานกับนางแบบต่างชาติหรือคนต่างชาติสิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารให้รู้เรื่อง ถ้าเราสื่อสารไม่รู้เรื่อง เขาจะไม่เชื่อใจ ในตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ช่างภาพไทยไม่รู้จักการกำกับช่างภาพแต่จะมี stylist มาเป็นคนกำกับนางแบบ การกำกับแบบไม่ได้เป็นเรื่องยากมากที่จะได้รูปที่ช่างภาพชอบ

การแตะตัวนางแบบเราต้องแตะแบบสุภาพ เวลาทำงานถ้ามีคนร่วมงานอยู่ห้าหกคนจับไปเถอะมันไม่มีอะไร แต่ถ้าอยู่ในห้องกันสองคนแล้วไปจับมันดูน่าเกลียด

พี่เจต : การจะจับมันต้องดูว่าจับเพื่ออะไร จับให้มันเข้าที่ จัดมุมให้สวยซึ่งคนที่เป็นแบบบางทีเขาไม่รู้ว่าหันไปเล็กน้อยคือเท่าไร บางทีการสื่อสารมันไม่ชัดเจนเหมือนกัน

Fotoupdate : กระแสฟิล์มที่กลับมามีผลดีหรือมีอะไรที่ต้องไปต่อ

พี่ต๋อง : ช่างภาพที่ดีต้องทำงานในห้องมืดให้เป็นด้วย แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีห้องมืดของตัวเอง ซึ่งทางเจตทำงานส่วนนี้จะเข้าใจดีว่าการทำงานในห้องมืดกับผลสำเร็จรูปมันคนละเรื่อง

พี่เจต : จริงๆเด็กๆ มันก็เล่นนะ ตั้งแต่เรามาทำ foto Club เราไม่เคยบอกว่าเราเป็นร้านล้างฟิล์มเพราะความคิดของเราคือไม่ว่าจะฟิล์มหรือดิจิตอลมันได้ทั้งนั้น แต่กระแสฟิล์มมาเราก็เลยมีบริการล้างฟิล์ม เหมือนงานวันนี้เราก็ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นฟิล์ม แต่ฟิล์มที่มีกระแสมันเป็นตัวดึงเด็กเข้ามา แต่สิ่งที่เราสนใจคือจะไปไงต่อ จะค้นหาตัวตนสไตล์ของตนเองอย่างไร อย่างงานวันนี้ถ้าใครชอบแฟชั่นจะเข้าใจว่าเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ซึ่งงานนี้มีคำตอบให้

จุดถ่ายภาพในงาน Fashion Foto fest

Fotoupdate : ฟิล์ม Negative เป็นมากกว่าขยะที่ทิ้งไว้ที่ร้าน

พี่เจต : คนไม่เข้าใจว่าฟิล์ม Negative มันมีอะไรมากกว่านั้น มันเอาไปทำอะไรต่อได้ ซึ่งตอนสแกนนี่มันจะเป็นการปรับภาพก่อนที่จะส่งรูปไปให้ลูกค้าซึ่งเป็น JPG สำเร็จรูปไปแล้ว ส่วนฟิล์ม Negative มันเหมือนเป็นไฟล์ RAW ที่เราจะไปขยาย ไปย่อหรืออื่นๆ มันต้องเริ่มทำจากตรงนี้ แต่พอคนไม่เข้าใจ ได้แต่รูปก็พอแล้วก็เลยทิ้งฟิล์ม แต่จริงๆมันคือส่วนสำคัญมาก

พี่ต๋อง : มันเป็นเรื่องยากที่เราจะไปบอกให้เขาทำอะไร แล้วคนจะมาสนใจเหรอที่จะมาทำให้สีมันเพี้ยนไปจากที่ร้านทำมา ซึ่งถ้าเป็นผมจะเอามาต้ม ใส่น้ำส้มใส่น้ำแดงแล้วมาลองสแกนดูใหม่ ซึ่งฟิล์มมันทำอะไรได้เยอะกว่าการทิ้งไว้ที่ร้าน

Fotoupdate : อยากให้พี่ต๋องฝากข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่

พี่ต๋อง : Keep shooting