10 ขั้นตอน สำหรับการถ่ายภาพ “SUPER MOON สีเลือด” ครั้งเดียวในรอบ 150 ปี 31มค61 นี้

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Blue Moon ไม่ได้แปลว่าดวงจันทร์สีฟ้า แต่หมายถึงมีดวงจันทร์เต็มดวงสองครั้งใน 1 เดือนโดยขณะเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์จะมีสีแดง (Blood Moon) เกิดจากแสงโทนแดงมีอำนาจทะลุทะลวงสูงกว่าแสงโทนน้ำเงินอื่นๆ จึงสะท้อนจากดวงอาทิตย์มาโลกได้ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ดวงจันทร์จะมีวงโคจรอยู่ใกล้โลกมากที่สุด ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏบนโลกใหญ่กว่าปกติ เรียกว่า Super Moon โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้น 14% เมื่อเทียบกับเวลาที่วงโคจรห่างโลกมากที่สุด

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม 2561 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่ เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนใน เวลา 18:48 น. เข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่ เวลา 19:51 – 21:07 น. คิดเป็นระยะเวลาจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ

เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลัง เวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงใน เวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามืดของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08.น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ในการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้ ดวงจันทร์ยังคงอยู่ในระยะทางที่ไม่ห่างจากโลกมากนัก จึงทำให้เราสังเกตเห็นดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ช่วงปกติเล็กน้อย ซึ่งนักดาราศาสตร์บางกลุ่ม เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “Super Lunar Eclipse”

  • เข้าเรื่องการถ่ายภาพกันดีกว่า ขั้นตอนการถ่ายภาพมีดังนี้

การถ่ายภาพจันทรุปราคาเต็มดวง อันดับแรกหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 องศา “จันทรุปราคา” และเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ ได้มีการคำนวณและกำหนดเวลาไว้แล้วคุณสามารถหาได้ว่า ที่ไหน เมื่อไหร่ จะปรากฏให้เห็นได้อย่างไร? อย่างบน เว็บไซต์ TimeandDate จะบอกเวลาของเหตุการณ์ในท้องถิ่นของคุณ

 

ภาพประกอบจาก TimeandDate.com แสดงเกี่ยวกับช่วงเวลาทั้งหมดของปรากฏการณ์ Super Blue Blood Moon Eclipse ในประเทศไทย

Eclipses สำหรับการหาตำแหน่งสถานที่ในการสังเกตการณ์ หรือถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา รวมทั้งจันทรุปราคา สามารถใช้ได้ทั่วโลก โดยโปรแกรมจะบอกถึงตำแหน่งของแนวคราสที่พาดผ่านบริเวณใดบ้างบนโลก

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการถ่ายภาพพระจันทร์

  1. กล้องถ่ายภาพและเลนส์ การถ่ายภาพพระจันทร์ จะต้องมีทางยาวโฟกัสยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ควรมีระยะประมาณ 200mm ขึ้นไป โดยที่การเลือกใช้กล้องแต่ละชนิด มีดังต่อไปนี้
    > กล้อง Full Frame ได้ในเรื่องคุณภาพไฟล์ แต่เสียเปรียบหน่อยที่ไม่มีตัวคูณ เลนส์ระยะไหนก็ได้แค่นั้น
    > กล้อง DSLR ที่มีตัวคูณ 1.5x สำหรับกล้อง Nikon และ Sony 1.6x สำหรับกล้อง Canon จะช่วยเพิ่มความยาวโฟกัสเลนส์ 300mm ก็ทำระยะได้ 450mm และ 480mm
    > กล้อง Mirrorless ได้เปรียบสุด M4/3 อย่าง Olympus กับ Panasonic ด้วยตัวคูณ 2.0x เลนส์ระยะ 300mm คูณ 2 ซูมไกลสุดระยะ 600mm ส่วน Mirrorless ยี่ห้ออื่นตัวคูณอยู่ที่ 1.5mm ครับ
    > กล้อง Ultrazoom อย่างเช่น Nikon P900 ออปติคอลซูม83เท่า ทำระยะได้ถึง 2000mm เหลือเฟือครับ ถือเป็นกล้องที่เหมาะกับการถ่ายภาพดวงจันทร์มากๆ
  2. ขาตั้งกล้อง สายลั่น หรือรีโมท ขาตั้งกล้องจำเป็นมากสำหรับการถ่ายภาพให้คมๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสั่น ยิ่งซูมไกลกล้องยิ่งต้องนิ่งมากๆครับสำหรับสายลั่นและรีโมท ถ้าไม่มีสามารถใช้การตั้งเวลาก็ได้ครับ
  3. อย่าลืมปิด Image Stabilization ที่เลนส์ เนื่องจากกลไกของ Stabilizer อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการสั่นเบาๆได้
  4. ปรับโหมดเป็น Manual ตั้งค่าเองทั้งหมด
  5. ตั้งประเภทไฟล์เป็น RAWหรือ JPG+RAWเผื่อมีอะไร จะได้มาปรับแก้ในLightroomได้
  6. ตั้งค่า ISO อยู่ที่ 100-400ให้ Noise น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  7. ตั้งค่ารูรับแสง ที่ f/8 เป็นค่าที่เหมาะสมครับจะได้ภาพที่คม เห็นรายละเอียดชัดเจน
  8. ตั้งความไวชัตเตอร์ไว้ประมาณ 1/125 ถึง 1/250 เพื่อให้ได้ภาพที่คม เนื่องจากพระจันทร์เคลื่อนที่ตลอดเวลา
  9. ตั้ง Focus เป็นแบบ Spot โดยเลือกโฟกัสไปที่ดวงจันทร์ ถ้าโฟกัสเลื่อนหลุดจับไม่ตรงบ้าง อาจจะปรับเป็น Manual Focus แล้วตั้งระยะ Infinity ก็ได้ครับ
  10. เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ลองลั่นชัตเตอร์กันเลยครับ แล้วก็มาดูว่าภาพสว่าง มืดเกินไป มี Noise หรือภาพเบลอ ฯลฯ เราก็ปรับค่าแก้ไขให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุด โดยค่อยๆ ปรับ ISO , รูรับแสง , ชัตเตอร์สปีท ตามความสว่าง**จากการวัดแสงจริง อาจจะต้องปล่อยค่าชัตเตอร์สปีด และดัน ISO ขึ้นไปอีก โดยล๊อคค่ารูรับแสงไว้ที่ f/8 เนื่องจากจันทรุปราคา ความสว่างของดวงจันทร์จะค่อนข้างน้อยมาก**

วงที่ดวงจันทร์อยู่ต่ำๆ สามารถถ่ายภาพแนวนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดองค์ประกอบ วางแผนเลือก Foreground ไว้ล่วงหน้า

ภาพโดย :  Eric Pare / Canon 5D Mark IV400mm f/5.6 สวม 2x extender (Mark II)และ 1.4x extender/1120mm, f/11, 1/200, ISO 100

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยจะเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือวันที่ 31 ม.ค.นี้และยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้

อ้างอิง : fstoppers.com, mgronline.com,Narit.or.th