Nikon 100th Anniversary เรื่องเล่า 100ปี ของ Nikon : ภาคตะลุยอวกาศ ตอนที่ 1

FotoUpdate ขอเสนอเรื่องเล่าของกล้อง Nikon ในตอนที่ 1 นี้จะเป็นตอนเกี่ยวกับกล้องฟิล์ม และ ตอนที่ 2 จะเป็นส่วนกล้องดิจิตอล

บริษัท Nikon Corporation ผู้ผลิตกล้องดิจิตอลและเทคโนโลยีเกี่ยวกับเลนส์ที่เราหลายๆคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 (1917) จากบริษัท ผู้ผลิตเลนส์สำหรับแว่นสายตา 3 แห่งรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับเลนส์ครบวงจรที่ชื่อว่า Nippon KōgakuTōkyō K.K

ประวัติศาสตร์การท่องอวกาศของ Nikon เริ่มต้นจาก กล้อง Nikon Photomic FTN ที่ปรับแต่งมาจาก Nikon F สำหรับภารกิจ Apollo 15 ในปีพศ. 2514 (1971) ในตอนแรกองค์การNASA ใช้ฟิล์มรูปแบบ 70 มม. เป็นหลัก แต่พวกเขาต้องการกล้องแบบพกพามากกว่า สำหรับใช้งานการถ่ายภาพในทุกสถานการณ์ Nikon เป็นบริษัทกล้องมีชื่อเสียงด้านความน่าเชื่อถือในตลาดสหรัฐฯ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตกล้องขนาด 35 มม. สำหรับ NASA เป็นพิเศษ

ในภารกิจนั้นNASAได้ลงสำรวจดวงจันทร์อย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ในการลงสำรวจนั้น ได้ใช้ยานพาหนะสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ LRV (Lunar Roving Vehicle) กล้องที่ใช้กับ LRV คือ Nikon Photomic FTN ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนตามข้อกำหนด NASA นั้นคือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ที่ครั้งแรกที่กล้อง Nikon เดินทางสู่อวกาศ

ตามข้อกำหนดขององค์การNASA ต้องเป็นกล้องชนิดพิเศษที่สร้างขึ้นให้ทนต่อรังสีคอสมิกและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอื่นๆ ภายในอวกาศ ต้องสามารถใช้งานได้ในสภาวะสุญญากาศและแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ และควรใช้งานได้ง่ายสำหรับคนที่สวมถุงมือ

เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ Nippon Kogaku K.K.ได้จัดตั้งทีมงานโครงการพิเศษซึ่งเรียกว่า “S Team” ทีมงานตัดสินใจที่จะใช้กล้อง Nikon Photomic FTN (รุ่นปีพ. ศ. 2511(1968)) ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในชุด Nikon F เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนากล้องพิเศษนี้

 (ซ้าย) Nikon Photomic FTN ต้นฉบับ (ขวา) Nikon Photomic FTN ฉบับ NASA

จุดที่ได้ทำการดัดแปลงมีเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น

  • หนังหุ้มกล้องที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับ Nikon F ถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นโลหะที่ทาสีด้วยสีดำด้าน
  • สำหรับชิ้นส่วนพลาสติก วัสดุที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับกล้อง F ต้องเปลี่ยนเป็นชิ้นส่วนพิเศษ
  • ห้องแบตเตอรี่ได้รับการออกแบบใหม่เพื่อป้องกันการรั่วไหล
  • ความหนาการชุบสีแบบมาตรฐานถูกปรับเปลี่ยน
  • ห้องฟิล์มถูกเปลี่ยนขนาดให้รองรับฟิล์มโพลีเอสเตอร์ทินเนอร์
  • คันโยกเลื่อนฟิล์ม,ก้านกรอฟิล์ม,ช่องมองภาพ และตัวเลขตัวนับฟิล์ม ขยายใหญ่ขึ้น
  • เลนส์ยังสามารถเปลี่ยนได้ แต่ขยายวงแหวนโฟกัสใหญ่ขึ้น
  • คันโยกขนาดใหญ่ถูกเพิ่มลงในกระบอกเลนส์ของกล้องเพื่อความสะดวกในการจัดการขณะสวมใส่ชุดอวกาศ
  • เลนส์ถูกเคลือบด้วยสารเคลือบป้องกันรังสียูวี ทำให้มีโทนสีน้ำตาลเข้มที่เป็นเอกลักษณ์
  • เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากการสะท้อนแสงแดด ตัวกล้องจึงถูกทาสีทับด้วยสีดำด้าน
  • ยางพลาสติก สารหล่อลื่นและวัสดุอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จะระเหยในสภาวะสูญญากาศ จึงแทนที่ด้วยโลหะ หรือวัสดุที่ NASA ระบุ การบัดกรีต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดภายใต้คำแนะนำของบุคลากรที่จบการศึกษาจากโรงเรียนการบัดกรีของ NASA

เนื่องจากน้ำหนักคือสิ่งที่ต้องจำกัดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงต้องไม่มีกล้องสำรองในกรณีใดๆก็ตาม Nikon Photomic FTN ที่ใช้สำหรับทำภารกิจจึงมีแค่ตัวเดียว

 ภาพโฆษณาเมื่อครั้งอดีต

 ภาพจากปฏิบัติการ Apollo 15

จากนั้นในปีพ.ศ.2523 (1980) NASA สั่งซื้อกล้อง Nikon F3 จำนวน 50 ตัว เพื่อใช้ทำการทดสอบก่อนขึ้นปฏิบัติการกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ซึ่งมีกล้อง “Small Camera” ติดตั้งไดรฟ์มอเตอร์ และ “Big Camera” สำหรับฟิล์มขนาดยาวพิเศษที่ถูกส่งไปให้NASA เพื่อใช้ในการขนส่งกระสวยอวกาศในปีพ. ศ. 2524

ในขณะนั้น Nikon F3 อยู่ในระหว่างการพัฒนาและแก้ปัญหาหลายจุด แต่NASA ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Nikon F3 คือกล้องที่จะใช้

 

“Small Camera” ติดตั้งไดรฟ์มอเตอร์ มาพร้อมกับเลนส์ Nikkor 35mm f1.4 และแบตเตอรี่ห้าก้อน

“Big Camera” เพิ่มห้องฟิล์มขนาดใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนได้ และใส่ฟิล์มได้ถึง 250 รูป

ต่อมาในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2534 (1991) Nikon F4 เป็นกล้องดิจิตอลรุ่นแรก(Electronic Still Camera หรือ ESC) เป็นครั้งแรกได้บินขึ้นสู่อวกาศพร้อมกระสวยอวกาศสำหรับการสำรวจ ในภารกิจ STS-48 หลังจากนั้นก็อยู่ในภารกิจอื่น ๆ อีกหลายลำเช่น STS-44 45, 42, 49, 53,56 และ 61

ซึ่ง Nikon F4 เป็นกล้องถ่ายภาพนิ่งเป็นกล้องดิจิตอลตัวแรกและกล้องดิจิตอลที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีการพัฒนาในปีพ. ศ. 2530 (1987) โดยทำงานผ่านระบบไฟฟ้าที่เรียกว่า HERCULES system ห้องฟิล์มของ Nikon F4 ถูกแปลงเป็นดิจิตอลโดยการวางเซนเซอร์ CCD ขาวดำความละเอียดหนึ่งล้านพิกเซลที่ระนาบฟิล์ม เซ็นเซอร์มีพิกเซล Loral CCD ขนาด 1024×1024 พิกเซลพร้อมพื้นที่ใช้งาน 15 มม. x 15 มม. ISO 200 เป็นความไวแสงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีตัวกรองอินฟราเรด สำหรับการจัดเก็บข้อมูลแบบดิจิตอลจำนวน 40 ภาพโดยมีขนาด 8 บิตต่อพิกเซล และการควบคุมกล้องที่เหลือจะอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตัวเดียว Wildcard 88 (Intel 80C88 8 MHz CPU) โดยภาพถูกส่งไปยังภาคพื้นดินผ่าน Orbiter Ku-Band digital downlink ในอัตรา 2 Mbit / s ภายใน 1 ชั่วโมงภาพถูกประมวลผลที่ Johnson Space Center ของ Pixar Image Computer

เลนส์ที่ใช้ในในภารกิจ STS-48 ประกอบด้วย Nikkor AF 20mm , Nikkor AF zoom 35-70mm, Nikkor 50mm f/1.2 และ Nikkor AF 180mm

การถ่ายภาพนิ่งอิเล็กทรอนิกส์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้กล้องสามารถจับภาพและแปลงรูปแบบดิจิทัลด้วยภาพที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับคุณภาพของฟิล์ม ภาพดิจิตอลจะถูกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ที่ถอดออกได้หรือแผ่นดิสก์แสงขนาดเล็ก และสามารถแปลงเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับการโอนย้าย หรือการปรับปรุงโดยใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ

ในระหว่างภารกิจ STS-48 NASAจะประเมินประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานแบบ Down-downbit และ Down-linked ของกล้องถ่ายรูปอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Still Camera หรือ ESC) ซึ่งพัฒนาโดยแผนก Man-Systems ที่ Johnson Space Center ESC เป็นโมเดลแรกที่วิวัฒนาการจนกลายเป็นรูปแบบกล้องดิจิตอลในปัจจุบัน

 ภาพจากภารกิจ (STS-49) ขณะที่นักบินอวกาศกำลังใช้งานกล้อง F4

ปี พ.ศ.2542 (1999) ในภารกิจ STS-103 NASAได้ใช้กล้องรุ่นใหม่ขึ้นบิน นั่นคือ Nikon F5 ที่ดัดแปลงเพียงน้ำมันหล่อลื่นซึ่งแสดงให้เห็นว่า F5 มีความสมบูรณ์และความทนทานสูงสุด ยังมีอุปกรณ์พิเศษที่ใช้ในภารกิจ คือผ้าห่มป้องกันอุณหภูมิสูงที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องกล้องจากสภาพแวดล้อมนอกอวกาศ คุณลักษณะเฉพาะคือปุ่มชัตเตอร์ถูกออกแบบมาในผ้าห่มความร้อน มีปุ่มโลหะถูกวางไว้เหนือปุ่มชัตเตอร์ทำให้นักบินอวกาศสามารถถ่ายภาพได้โดยการกดปุ่มโลหะ

NASA เลือก Nikon F5 ในฐานะกล้องในกิจกรรมพิเศษ extra vehicular activity (EVA) อย่างเป็นทางการ

ที่มา : Nikon.com