อลังการงานช้าง! ช่างภาพโชว์ผลงานภาพถ่ายทางช้างเผือกพร้อมพายุโดยไม่ได้ตัดต่อภาพใดๆ

Cory Mottice ช่างภาพและนักอุตุนิยมวิทยาประจำการสำนักงานอากาศแห่งชาติ ณ เมืองกลาสโกว์ รัฐมอนแทนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แชร์ผลงานภาพสุดอลังการบนเว็บไซต์ของตัวเอง

Cory Mottice เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ผมเคยถ่ายภาพดวงดาวที่อยู่เหนือพายุฝนฟ้าคะนองมาแล้ว แต่ไม่เคยคิดเลยว่าผมจะสามารถจับภาพทางช้างเผือกที่อยู่เหนือพายุฝนฟ้าคะนองได้ ในขณะที่กำลังไล่ล่าพายุในทางตะวันออกมอนแทนา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2018”

“ในวันนั้นผมออกจากบ้านตอนประมาณ 11.00 น. และขับรถประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อไปยังเมืองเป้าหมายของเรา ที่ซึ่งเราอดทนรอให้พายุก่อตัวขึ้น บางส่วนของพายุกลุ่มแรกก่อตัวขึ้นประมาณ 16-17 น.  ผมพยายามที่จะจับภาพฟ้าผ่าบางส่วนที่มีพายุก่อตัวในตอนเย็นแต่ก็ยังไม่มีอะไรที่น่าประทับใจมาก”

“จนกระทั่ง พายุที่รุนแรงที่สุดกำลังก่อตัวขึ้นทางตอนใต้ของสถานที่ของผม ผมจึงรีบบึ่งรถไปทางใต้ประมาณหนึ่งชั่วโมงเพื่อประจำตำแหน่ง แต่น่าเสียดายเมื่อเรามาถึงพายุก็กำลังอ่อนตัวลง ผมได้ถ่ายภาพโครงสร้างพายุที่น่าสนใจไม่กี่ภาพ และตัดสินใจว่าจะไม่คุ้มกับการจับภาพพายุอีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้าน”

“แต่โชคชะตาก็ชอบเล่นตลกกับผม ขณะที่กำลังแวะเติมน้ำมันผมสังเกตเห็นแนวพายุที่มุ่งหน้าไปทางตะวันออกซึ่งจะข้ามเส้นทางกลับบ้าน ทันใดนั้นผมตัดสินใจมุ่งหน้าไปทางเหนือทันทีแทนที่จะหยุดกินอาหารค่ำและพยายามไล่ล่าพายุเหล่านี้เพื่อจับภาพฟ้าผ่าบางส่วน แต่น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถเดินทางไปทางเหนือได้ทันเวลา เพราะเผชิญฝนตกอย่างต่อเนื่อง”

“ถึงแม้จะเป็นเวลาเที่ยงคืนแล้วก็ตาม ผมตัดสินใจที่จะรออีก 30 นาทีหรือจะจนกว่าฝนจะหยุด เผื่อว่าจะได้อะไรติดกลับมาบ้าง ผมนั่งรออยู่ในรถบนถนนที่เป็นโคลนและรุงรัง  ทันทีที่ฝนสิ้นสุดลงไม่รอช้าผมกระโดดลงจากรถและตั้งขาตั้งกล้องในทันที”

“หลังจากถ่ายภาพประมาณ 10 นาที ผมสังเกตเห็นดวงดาวบนท้องฟ้ากระจ่างอย่างชัดเจนข้างหลังพายุ และอีกไม่กี่นาทีพายุกำลังจะขยับตัวไปไกลพอสมควร ผมจึงเริ่มพยายามที่จะถ่ายภาพท้องฟ้าและฟ้าแลบแทน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์เท่าไหร่”

“ความพยายามในการถ่ายภาพครั้งแรกไม่เป็นผล (ดูด้านล่าง) ผมยังคงพยายามจัดการตั้งค่ากล้องให้ดีที่สุดสำหรับการจับภาพท้องฟ้ายามค่ำคืน เน้นรายละเอียดและยังจับภาพสายฟ้าได้ด้วย โดยไม่ทำให้รายละเอียดของพายุเสียหายไปด้วย”

“หลังจากถ่ายภาพหลายๆครั้ง ผมได้พิจารณาแล้วว่าทางออกที่ดีที่สุด คือการถ่ายภาพด้วยค่า ISO 2500 ความเร็วชัตเตอร์ที่ 25 วินาที และตั้ง f / 2.8 (ใช้เลนส์ Tamron 15-30mm f / 2.8 กับ Nikon D610) ผมต้องการเพียงแค่การฟ้าผ่าสักหนึ่งเปรี้ยง เพียงแค่เปรี้ยงเดียว่เท่านั้น ที่เกิดขึ้นภายใน 25 วินาที มิฉะนั้นพายุก็จะกระเจิงหมดซะก่อน ผมได้ถ่ายภาพซ้ำๆ จนกระทั่งพายุได้หยุดลง”

“ผมสังเกตเห็นว่ามีทางช้างเผือกติดมาด้วย และมากขึ้นทุกครั้งเมื่อถ่ายภาพแต่ละครั้ง บทสรุปคือภาพที่ได้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะสามารถจับภาพได้ โดยส่วนตัวผมรักการถ่ายภาพความงามของพายุฝนฟ้าคะนองและทางช้างเผือก แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถถ่ายภาพทั้งสองสิ่งด้วยกันในภาพเดียว”

ภาพก่อนแก้ไข

“ผมแก้ไขภาพเกือบทั้งหมดใน Lightroom เหมือนกับที่ทำกับภาพถ่ายดาวที่เคยถ่ายมา และผมใช้Photoshopเพียงเพื่อแก้ปัญหาNoiseบางจุด”

ภาพหลังแก้ไข

ที่มา : corymottice.com